เกาะสีชัง ให้รางวัลกับสุขภาพด้วย 9 จุดเช็คอิน ตอนที่ 1
- ณ ชลบุรี
- ภาคตะวันออก
- หมวด: เที่ยวชายหาด ทะเล, เที่ยวเกาะ
- 8 กุมภาพันธ์ 2020
เกาะสีชัง ไม่ได้ให้ชังเหมือนชื่อนะ เกาะที่เราสามารถเที่ยวได้ทั่วเกาะด้วยการเช่ามอเตอร์ไซต์แล้วขับวิ่งวนรอบเกาะ ชมจุดสวยงามมากมาย ชมพระอาทิตย์ตกน้ำ ไหว้พระ ชิมอาหาร รับลมทะเล ตกปลา เล่นน้ำ มาแล้วจบ ครบทุกอย่างจริง อีก 1 ที่เที่ยวชลบุรี
เกาะสีชังเป็นเกาะขนาดเล็กที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์เกาะหนึ่งของประเทศไทยเนื่องจากเคยเป็นสถานที่เสด็จประพาสและเป็นที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดินของกรุงรัตนโกสินทร์ถึง ๓ พระองค์ ได้แก่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ ๔ ) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ ๕) และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ ๖ ) เคยเป็นสถานที่ที่ทรงใช้เป็นที่บริหารพระราชกรณียกิจที่สำคัญๆ ในการปกครองประเทศบ้านเมืองมาระยะหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ ๕ ทั้งได้เคยเป็นที่พักอาศัยประชุมกันและ ดำเนินกิจการของหมู่อำมาตย์ข้าราชบริพาร ระดับผู้ใหญ่ชั้นพระบรมวงศานุวงศ์ นอกจากนี้ยังเป็นสถานที่ประสูติพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๓๕ และสร้างพระจุฑาธุชราชฐาน ณ เกาะแห่งนี้อีกด้วยซึ่งทำให้เกาะสีชังเป็นเพียงเกาะเดียวในประเทศไทยที่มีพระราชวังหรือเขตพระราชฐานตั้งอยู่ที่เกาะสีชังนี้
จากประวัติศาสตร์เกาะสีชังได้กล่าวไว้ว่า เป็นท้องที่อำนวยสุขภาพและบำรุงอนามัยได้เป็นอย่างดี ในสมัยรัชกาลที่ ๕ หรือเกินกว่านั้นขึ้นไป เกาะสีชังเป็นถิ่นที่พักตากอากาศ เป็นดินแดนคนชาวกรุงพากันมาพักรักษาตัวเมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย เช่น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถก็เคยเสด็จประทับที่เกาะสีชังนี้เพื่อทรงตากอากาศและเยียวยาพระโรคาพยาธิ ก็ปรากฏว่าทรงหายเป็นปกติ
ที่มาเขาชื่อนะเยอะมาก เรื่องราวที่เกี่ยวกับชื่อของเกาะสีชังนั้น เป็นภาษาที่ถือเอาความหมายได้ยากยิ่ง แม้แต่ปราชญ์ทางภาษาก็เพียงแต่ตั้งข้อสันนิษฐานถึงความหมายและที่มาของคำว่า “สีชัง” ไว้ดังนี้
สีชัง เป็นภาษาของชนชาติหนึ่งที่เป็นชนเผ่าของเขมร เรียกว่า สำแล โดยอาศัยหลักชาติพันธุ์วิทยาเป็นข้อสันนิษฐานเท่านั้น และไม่ทราบความหมายที่แท้จริง
สีชัง มาจากภาษาจีน คือ ซีซัน ซึ่งหมายถึง สี่คนทำไร่ โดยมีเรื่องราวเล่าว่ามีพ่อค้าเรือสำเภาจีน ๔ นายล่องเรือค้าขายมาถึงเกาะแห่งหนึ่ง เกิดความรู้สึกเบื่อหน่ายในธุรกิจการค้ามาตั้งรกรากและหันมาประกอบอาชีพทำไร่อยู่บนเกาะ ซึ่งต่อมาคำว่า “ซีซัน” จึงแผลงมาเป็น “สีชัง”
สีชัง มาจากคำว่า “สีห์ชงฆ์” ซึ่งหมายถึง แข้งสิงห์ เพราะเกาะนี้มีรูปร่างคล้ายแข้งสิงห์
สีชัง มีตำนานเชื่อว่า ฤๅษีองค์หนึ่งเกิดเบื่อหน่ายโลกีย์วิสัย มาพำนักบำเพ็ญพรต จนมีชื่อเสียงเป็นที่เคารพนับถือชาวบ้าน ต่อมาจึงเรียกเกาะนี้ว่า “เกาะฤษีชัง”
ที่มาของข้อมูล เทศบาลเกาะสีชัง
ให้ใช้เส้นทางมอเตอร์เวย์หากวิ่งหรือเริ่มเดินทางจากกรุงเทพนะครับ วิ่งมุ่งหน้าสู่ท่าเรือไปเกาะสีชัง ใช้คำนี้ในการค้นหาเส้นทางในการเดินทางได้เลย หรือจะเปิดใช้งานจากแผนที่ที่เราได้เตรียมเอาไว้ให้แล้วก็ได้ครับ พร้อมจุดพักผ่อนท่องเที่ยวได้เตรียมเอาไว้ให้แล้ว เมื่อมาถึงท่าเรือในส่วนของที่จอดรถก็มีทั้งฟรีและเสียค่าใช้จ่าย ในส่วนการจอดฟรีก็สามารถหาที่ว่างจอดแถวๆ ท่าเรือหรือบริเวณสะพานเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีได้เลย แต่ควรจอดให้ไม่กีดขว้างคนอื่นนะครับเพราะถ้าเราไปเที่ยวแบบพักค้างคืน คนอื่นเขาจะลำบากเอา
เสร็จสิ้นเรื่องการจอดเราก็มาจับจองที่นั่งบนเรือ โดยเรือโดยสารจะมีค่าโดยสารคนละ 50 บาท เรือออกทุกชั่วโมง หรือหากไปในช่วงเริ่มไม่ม่ผู้โดยสารแล้ว เรือก็จะออกเลยไม่ต้องรอนาน เรือเที่ยวสุดท้ายคือเวลา 20:00น. แต่ราคาค่าโดยสารเป็น 60 บาท และสามารถเหมาลำได้
ราคาเหมาลำ ไม่เกิน 60 คน อยู่ที่ 5,500 บาท / ลำ
ราคาเหมาลำ ไม่เกิน 100 คน อยู่ที่ 8,000 บาท / ลำ
การโดยสารบนเรือใช้เวลาประมาณ 45 นาทีครับ เรือจะแวะจุดเดียวที่บ้านเกาะขามใหญ่
ระหว่างเส้นทางที่เราผ่านจะเห็นเรือสินค้ามากมาย ลำใหญ่ๆ ทั้งนั้น จุดถ่ายสินค้ามองดูไกลๆ เหมือนในหนังแบบอวกาศเลย ถ้ามียานบินขึ้นลงนะใช่เลยนะครับ
เพื่อความสะดวกสำหรับการเดินทางบนเกาะสีชัง เราได้เช่าบริการรถมอเตอร์ไซต์ 24 ชั่วโมงพร้อมน้ำมันฟรี เป็นราคา 300 บาท ร้านที่ให้บริการเช่ามอเตอร์ไซด์มีอยู่หลายเจ้าเหมือนกัน ซึ่งได้ยินว่าหากในวันที่มีคนมาเที่ยวเยอะมอเตอร์ไซต์อาจจะมีให้บริการไม่พอเพียง ณ จุดขึ้นเรือก็มีห้องน้ำให้บริการนะครับ
แต่ใช่ว่าจะมีแค่มอเตอร์ไซต์ที่ให้บริการ รถสามล้อเครื่องก็มีให้บริการด้วย ในกรณีที่พักไม่มีรถมารับ ราคาอยู่ก็ 60-70 บาทต่อคัน นั่งได้ไม่เกิน 6 คน ส่วนราคาเหมาพาเที่ยวรอบเกาะอยู่ที่ราคา 500 บาท พาชม 5 จุดท่องเที่ยว
หากจะมีรัก ก็ให้รัก อย่างได้มาชังกัน เพราะไม่ได้รักเลย
หากใครเดินทางมาช่วงบ่ายเหมือนเรา จุดแรกหลังจากเช็คอินที่พักเป็นที่เรียบร้อย ก็แนะนำเลยครับ มาเดินเบาๆ รับลมไปก่อน สถานที่ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของพระราชวังพระจุฑาธุชราชฐาน เดินถ่ายรูปในบริเวณสถานที่แห่งนี้ แบบดูๆไปรอบๆไว้ก่อน เดียวพรุ่งนี้แวะมาเก็บตกอีกครั้งก็ยังได้นะครับ มี่ที่จอดรถให้สะดวกสบาย ด้วย สะพานเป็นสะพานไม้ที่ทอดตัวออดไปในทะเล จะเห็นผู้คนมากมายจะมายังจุดนี้ แต่ลืมบอกไปว่าบริเวณทางเข้ามา มีพิพิธภัณฑ์ชลทัศนสถานที่มีสัตว์น้ำต่างๆ ให้เราดู สะพานอัษฎางค์…สะพานแห่งรัก เชื่อมคุณค่า จากอดีตสู่ปัจจุบัน จากพระอาการของประชวรของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ เพราะกรุงเทพมหานครเวลากลางวันอากาศร้อนกว่าที่เกาะสีชังมาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเกรงว่าพระอาการที่ดีขึ้นเกือบหายปกติจะกลับมาทรุดลงอีก จึงมีความจำเป็นที่ต้องเสด็จพระราชดำเนินออกมาประทับที่เกาะสีชังอีก นับเป็นการเสด็จฯ ประพาสครั้งที่ 3 จึงเป็นโอกาสดีที่ได้เสด็จพระราชดำเนินประพาสในที่ต่างๆ และทรงพระราชดำริทำนุบำรุงเกาะสีชังให้เจริญยิ่งขึ้น เพื่อราษฎรได้เป็นสุขสำราญ เป็นต้นว่า ที่เกาะสีชัง เวลาน้ำแห้งลงเรือเข้าจอดไม่ได้ถึงชายหาด ต้องเดินลุยน้ำขึ้นลงเป็นที่ลำบาก บางครั้งถูกกาบหอยบาดได้รับบาดเจ็บ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างสะพานที่บริเวณชายทะเลด้านทิศตะวันออกของพระราชวังในปัจจุบันนี้ โดยพระราชทานชื่อว่า “สะพานอัษฎางค์”
นับเป็น 1 ใน 5 สิ่งก่อสร้างที่พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นที่เกาะสีชังใน พ.ศ. 2434 ได้แก่ วัด สะพาน บ่อน้ำ ประภาคาร และเสาธง ซึ่งพระราชทานนามสถานที่ต่างๆ เหล่านี้ ตามพระนามของพระราชโอรส คือ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ โดยมีพิธีเปิดและพระราชทานนาม ในวันที่ 30 สิงหาคม ร.ศ.110 ตรงกับ พ.ศ. 2434 ประมาณ 130 กว่าปีที่ผ่านมา อย่าไปบอกใครว่ามาเกาะสีชัง ถ้าไม่ได้มาถ่ายรูปที่นี่ ที่แห่งนี้เหมาะมากเลยสำหรับจะดูพระอาทิตย์ยามเช้าโดยไม่มีการเก็บเงินค่าเข้าชม
เรือนวัฒนา เป็นเรือนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระคลังข้างที่จ้างเหมาสร้าง เพื่อใช้เป็นที่พักอาศัยสำหรับผู้ป่วยที่เดินทางมารักษาตัวที่เกาะสีชังเรียกกันว่า อาไศรยสถาน ในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาเมื่อปีพุทธศักราช 2431 ในปีพุทธศักราช 2432
เมื่อการก่อสร้างอาไศรยสถานแล้วเสร็จ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทำพิธีฉลองอาไศรยสถานแห่งนี้ โดยมีพิธีสวดมนต์ ถวายภัตตาหารพระสงฆ์และพระราชทานชื่อเรือนแห่งนี้ว่า เรือนวัฒนา ตามพระนามสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ที่ทรงบริจาคทรัพย์จัดซื้อเครื่องตกแต่งสำหรับเรือนแห่งนี้ เรือนแห่งนี้เข้าใจว่าในระหว่าง ปีพุทธศักราช 2434-2436 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เสด็จพระราชดำเนินประทับ ณ เกาะสีชัง ดังนั้นจึงไม่อนุญาตให้บุคคลทั่วไปเข้าพักอาศัยเนื่องจากอยู่ในบริเวณพระราชฐานและใช้เป็นที่ประทับส่วนพระองค์และพระราชวงศ์ เมื่อพระที่นั่งและพระตำหนักต่างๆยังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง
เรือนผ่องศรี เป็นเรือนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระคลังข้างที่จ้างเหมาสร้าง เพื่อใช้เป็นที่พักอาศัยสำหรับผู้ป่วยที่เดินทางมารักษาตัวที่เกาะสีชังเรียกกันว่า อาไศรยสถาน ในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาเมื่อปีพุทธศักราช 2431 ในปีพุทธศักราช 2432
เมื่อการก่อสร้างอาไศรยสถานแล้วเสร็จ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทำพิธีฉลองอาไศรยสถานแห่งนี้ โดยมีพิธีสวดมนต์ ถวายภัตตาหารพระสงฆ์และพระราชทานชื่อเรือนแห่งนี้ว่า เรือนผ่องศรี ตามพระนามพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี ที่ทรงบริจาคทรัพย์จัดซื้อเครื่องตกแต่งสำหรับเรือนแห่งนี้ เรือนแห่งนี้เข้าใจว่าในระหว่าง ปีพุทธศักราช 2434-2436 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เสด็จพระราชดำเนินประทับ ณ เกาะสีชัง ดังนั้นจึงไม่อนุญาตให้บุคคลทั่วไปเข้าพักอาศัยเนื่องจากอยู่ในบริเวณพระราชฐานและใช้เป็นที่ประทับส่วนพระองค์และพระราชวงศ์ เมื่อพระที่นั่งและพระตำหนักต่างๆยังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง
เจดีย์เหลี่ยม ไม่ปรากฏประวัติการสร้างแต่อย่างไร สันนิษฐานเพียงว่าน่าจะเป็นเจดีย์ตามบันทึกของนาย จอร์น ครอว์เฟิร์ด ( John Crawfurd ) ราชฑูตอังกฤษเมื่อปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยในปี พ.ศ. 2365
ได้บันทึกการสำรวจสภาพภูมิประเทศ พันธ์พืช สัตว์ ธรณีสัณฐาน ตลอดจนชุมชนท้องถิ่นเกาะสีชัง โดยพบว่ามีเจดีย์อิฐ สูง 30 ฟุต สันนิษฐานว่าเป็นที่สำหรับชาวเรือมานมัสการ ลักษณะทางสถาปัตยกรรม : เป็นเจดีย์ก่ออิฐฉาบปูน รูปเหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสองทรงชะลูด มีฐานเป็นแท่นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ความกว้างประมาณ 7 เมตร ฐานสูง 0.60 เมตร ตัวเจดีย์มีความสูงจากพื้นถึงส่วนยอดประมาณ 8.30 เมตร ส่วนยอดและส่วนฐานขององค์เจดีย์แกะเป็นลวดลายกลีบบัว ตัวเจดีย์ตั้งบนพื้นหินหันด้านต่างๆ ตรงกับทิศทั้ง 4
หินระฆัง เป็นหินปูนผสมหินทรายเกิดขึ้นตามธรรมชาติ ที่มีความแข็งและหนาแน่นมาก เมื่อเคาะจะทำให้เกิดเสียง ซึ่งเป็นเสียงคล้ายระฆัง ปัจจุบันได้นำมาตั้งอยู่ที่ลานหินโบราณ ซึ่งเป็นลานหินปูนที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 300-400 ล้านปี ซึ่งสันนิษฐานว่าอาจเคยอยู่ใต้ทะเลมาก่อน
เจดีย์เหลี่ยม วัดอัษฎางคนิมิตร เกาะสีชังแต่เดิมมีวัดอยู่เพียงวัดเดียวเป็นวัดของราษฎรเรียกกันว่า วัดเกาะสีชัง ตั้งอยู่ที่ปลายแหลม ที่เรียกว่า แหลมวัด ต่อมาเมื่อมีการสร้างพระราชวังขึ้นที่แหลมนี้เมื่อปีพุทธศักราช 2435 แหลมนี้จึงได้ชื่อว่า แหลมวัง วัดเกาะสีชังในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯให้เจ้าพระยา ทิพากรวงษ์ มหาโกษาธิบดี (ซำ) มาดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์ จึงปรากฏพระอุโบสถและเสนาสนะต่างๆที่เกาะสีชังในระยะหลังต่อมา ได้แก่ พระอุโบสถขนาดสามห้องบนเนินเขา มีเก๋งหน้าพระอุโบสถที่ยื่นจากเขาลงไปในทะเล มีบันไดปูนสำหรับขึ้นและศาลาการเปรียญรวมทั้งกุฏิ 2-3 หลังริมน้ำ
พระอารามซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้ปฏิสังขรณ์ขึ้นนั้น มีพระอุโบสถกว้าง 3 วา ยาว 9 วา 2 ศอก สูง 3 วา ศาลาการเปรียญหนึ่งหลัง กุฏิฝากระดาน 7 หลัง วัดนี้ไม่ได้รับพระราชทานชื่อ แต่ชาวบ้านโดยทั่วไปเรียกกันว่า “วัดเกาะสีชัง”
ต้นพระศรีมหาโพธิ์ เดินมาถึงบริเาณนี้แล้ว เสนอเจอกับความแห้งของใบ หากกลับมาสวยงามขึ้นคงได้รับลนเย็นๆ ปกปิดแสงแดดร้อนๆ ได้เหมือนกัน บริเวณพระเจดีย์อุโบสถวัดอัษฎางคนิมิตรมีต้นพระศรีมหาโพธิ์ซึ่งนำหน่อมาจากพุทธคยา ประเทศอินเดีย โดยพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ ( พระยศขณะนั้น ) เมื่อปีพุทธศักราช 2434 ดังรายละเอียดทรงเล่าไว้ในหนังสือนิทานโบราณคดีดังต่อไปนี้
“ฉันได้เล่ามาแล้วว่า เมื่อไปถึงเมืองคยา มิสเตอร์เครียร์สัน เจ้าเมืองคยาได้เตรียมต้นโพธิ์พันธุ์ พระศรีมหาโพธิ์ไว้ให้ฉัน 3 ต้น เดิมฉันนึกว่าจะไม่รับเอามา เพราะเห็นว่าต้นยังอ่อนนักคงมาตายกลางทาง แต่นึกขึ้นมาว่า แต่ก่อนมาเมืองไทยยังไม่เคยได้ต้นโพธิ์พันธุ์พระศรีมหาโพธิ์จากต้นเดิมที่พุทธคยา น่าจะลองเอามาดูสักทีเผื่อจะรอดได้ ถ้าไปตายกลางทางก็แล้วไป ฉันจึงให้ต่อหีบหลังกระจกใส่กระบอกต้นโพธิ์ 3 ต้นนั้น เอาติดตัวมาด้วย เมื่อมากลางทางเห็นต้นโพธิ์แตกใบอ่อนก็เกิดปิติ ด้วยจะได้เป็นผู้นำต้นโพธิ์พระศรีมหาโพธิ์ตรงมาจากเมืองพุทธคยาเข้ามาเมืองไทยเป็นครั้งแรก เมื่อวันกลับมาถึงกรุงเทพฯ นำต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่ได้มาจากพุทธคยา ไปถวายสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงที่เกาะสีชัง เวลานั้นกำลังทรงสร้างวัดอัษฎางคนิมิตร โปรดเกล้าฯ ให้ปลูกไว้ที่วัดอัษฎางคนิมิตร ต้นหนึ่ง อีกสองต้นโปรดฯให้ชำไว้ในเขตพระราชฐานที่เกาะสีชัง ครั้งทรงสร้างวัดเบญจมบพิตร โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายมาปลูกไว้ที่วัดเบญจมบพิตรต้นหนึ่ง ที่เหลืออยู่อีกต้นหนึ่งจะยังอยู่ที่เกาะสีชังหรืออย่างไร ฉันหาทราบไม่”
ต้นพระศรีมหาโพธิ์หน้าวัดอัษฎางคนิมิตรนี้ ถือเป็นต้นไม้ที่สำคัญมากของเกาะสีชังและประเทศไทย เพราะเป็นต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่มีการนำหน่อมาจากต้นพระศรีมหาโพธิ์ ณ พุทธคยาซึ่งเป็นต้นลูกหลานของต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ และถือเป็นครั้งแรกที่นำมาจากพุทธคยาโดยตรงของประเทศไทย ไม่ได้มาจากลังกา
ณ จุดนี้เราใช้เวลาผ่านไปเร็วมา เดินไปเดินมา ชมนั้นนี้ซึมซับอดีต ในวันที่พบกับความแห้งแรง ที่ขาดการดูแลรักษา ด้วยเหตุผลที่เราไม่สามารถรู็ได้มานัก อาจจะเป็นเพราะฝนไม่ได้ตก วันนี้อะไรก็ดูไม่เขียวสบายตา
ที่มาของข้อมูล พิพิธภัณฑ์พระจุฑาธุชราชฐาน
จากจุดแรกที่เราไป ใช้เวลาสักพักก็ได้เวลาไปชมพระอาทิตย์ตกน้ำกันดีกว่า ออกจากสะพานอัษฎางค์ขับมอเตอร์ไซต์เป็นเส้นตรงอย่างเดียว ผ่านชุมชนระยะทางประมาณ 2.4 กิโลเมตร 2 จุดนี้อยู่ติดกัน โปรดอย่าลืมดู วัน เวลา พระอาทิตย์ตกด้วยนะ เผื่อเวลาเดินชมวิวก่อนก็ดี แนะนำให้มาเวลาประมาณ 17:00 น. จอดรถด้านหน้าก็ลงเดินได้เลย เส้นทางเดิน มี 2 เส้นทางหลักด้วยกัน คือด้านบนได้วิวมุมสูง ด้านล่างวิวทะเล เลือกเส้นทางกันได้เลย โดยสถานที่แห่งนี้จะเป็นแหลมเล็กๆ ทอดตัวยาวออกไปในทะเล วิวจากทางที่เรากำลังเดินดูเป้นหน้าผาเล็ก เห็นผู้คนมาตกปลากันเยอะเหมือนกัน ระหว่างทางก็พบสิ่งก่อสร้างที่ทิ้งร้างเอาไว้นานจนเป็นสนิม มาเรื่องของเราดีกว่าที่กำลังจะชมพระอาทิตย์ตกน้ำ ถ่ายภาพสวยๆ จุดนี้เป็นจุดที่ไม่ควรพลาด ถ่ายยังไงก็ออกมาสวยจริงๆ จบหลังกล้องได้เลย โชคดีวันฟ้าระเบิด (ภาษาช่างภาพ) หรือท้องฟ้าสีเหลือง รับรองได้เลยว่าได้ภาพสวยๆ กลับไปแน่นอน ส่วนขากลับกะว่าจะเดินกลับข้างล่างไปแต่เดินไม่สะดวก เพราะความสว่างไปเพียงพอให้เห็นทางเดินจะมีแสงสว่างเฉพาะบนสะพาน อาจเพราะเราใช้เวลานาน เก็บภาพเยอะ นั่งเล่นรับลม จนลืมเวลา
ตกค่ำได้เวลาอาหาร ท้องเริ่มหิว แต่วิวก็อยากเก็บ แถมก่อนหมดวันด้วย ประภาคารเปลี่ยนสี ที่เกาะสีชัง ต้องหาวิวที่ออกห่างออกมา จะเข้าไปหาตัวประภาคารเลยไม่ได้เพราะเค้าปิดถนนไม่ให้เข้า ใช้เวลาประมาณ 15 นาที นั่งชมเปลี่ยนประภาคารเปลี่ยนสีให้ครบในเวลากลางคืน ต่อจากนั้นก็ขับรถหาร้านอาหาร พื้นถิ่นทาน บางคนก็ต้องจัดอาหารทะเลเป็นมื่อค่ำ แต่พอเราได้รอไปร้านดังแล้วก็ต้องตกใจในราคา ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องปกติสำหรับการเที่ยวเกาะเพราะราคาสินค้าต่างๆ ก็จะสูงขึ้น แต่สบายใจได้เพราะบนเกาะแห่งนี้มีร้าน 7 eleven เปิดให้บริการ สุดท้ายเราจบที่ผัดไทย และบัวลอยทรงเครื่อง แนะนำเลยว่าต้องลองครับ ราคาย่อมเยาว์และรสชาติดี ราตรีสวัสดิ์สำหรับวันนี้ ตอนหน้ามาต่อจุดท่องเที่ยวที่เหลือ อีก 1 ที่เที่ยวชลบุรี
Copyright 2020 – Your Time Travel design by Chittakorn Corporation Co.,Ltd