สะพานแดง จุดชมวิวปลาโลมา จากกรุงเทพเพียง 50 กม.
- ณ สมุทรสาคร
- ภาคกลาง
- หมวด: เที่ยวชมวัฒนธรรม, เที่ยวชายหาด ทะเล
- 22 กุมภาพันธ์ 2020
สะพานแดง จุดชมวิวปลาโลมา เป็นสถานที่ท่องเที่ยวอีกจุดที่น่าสนใจสำหรับวันพักผ่อนแบบเบาๆ ระยะทางไม่ไกลจากเมืองกรุงด้วยระยะทางเพียง 50 กิโลเมตร เท่าน้ัน ตั้งอยู่แถวจังหวัดสมุทรสาคร เมื่อเที่ยวเดินเล่นเสร็จสามารถทานอาหารทะเลแถวๆนั้น อิ่มลม อิ่มบรรยากาศ และอิ่มท้องกลับบ้าน
เส้นทางที่เรากำลังเดินทางนั้น จะได้พบกับหมู่บ้านปากคลองประมง ที่มีการสืบทอดมาหลายช่วงอายุรวมกว่า 100 ปีที่ยังคงวิถีประมงดั้งเดิมเอาไว้ ที่ชาวบ้านทำการประมงโดยเฉพาะหอยแมลงภู่ขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะทานสด หรือนำไปปรุงเป็นอาหารก็ได้เลย ปลากระบอกก็มีให้ทาน สามารถแวะซื้อหากลับบ้านได้ตามข้างทางเลยครับ
สำหรับการเดินทางด้วยรถยนตร์ส่วนบุคคล หรือมอเตอร์ไซต์ สามารถเดินทางได้ตามแผนที่ที่เราเตรียมเอาไว้ให้ จาก Google Map ที่เราได้อำนวยความสะดวกเอาไว้ กดเปิดขึ้นมาก็จะพบกับตำแหน่งที่เราต้องเดินทางไป จากจุดที่เราอยู่ ระยะทางขึ้นอยู่กับตำแหน่งของแต่ละคนที่จะเลือกเดินทาง
เมื่อเริ่มเข้าสู่ทางของชุมชนขอให้ชะลอความเร็วรถลงเนื่องจากถนนค่อนข้างแคบ รถสวนกันได้พองาม แนะนำให้ชมวิวข้างทาง เปิดกระจกรับลมทะเลเบาๆ และสูดกลิ่นทะเล เมื่อถึงที่หมายจะมีที่จอดรถที่อำนวยความสะดวกอยู่ 2 จุด คือจุดด้านนอกที่สามารถจอดรถได้เลย และด้านในจะเป็นส่วนที่มีค่าบริการจอดรถ ในวันที่เราไปกันนั้น ผมได้จอดด้านนอกเลยไม่ได้เสียค่าบริการ และห้องน้ำก็มีให้บริการนะครับ ซึ่งเป็นของร้านอาหารแถวนั้นๆ นั้น สิ่งนี้เป็นสิ่งแรกๆ ที่ผมชอบมองหา เนื่องจากเป็นคนธาตุเบาทานอะไร ผิดปกติไป ก็เป็นเรื่อง
ความสุขเพียงเล็กน้อย ที่เราสามารถสร้างขึ้นเองได้
และแล้วเราก็มาถึงสะพานสีแดง ที่สีแดงไม่เกี่ยวข้องอะไรกับใคร หรือมีความหมายอะไรพิเศษ เราสามารถเดินชิวๆ ในช่วงวันหยุดจะมีคนมาแวะชมเยอะเป็นพิเศษ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ ในวันธรรมดาก็คนน้อย สะพานถูกสร้างขึ้นโดยปูน ประกอบกับไม้บางส่วน และคงพยายามที่จะสร้างเป็นปูนให้ดูแข็งแรงมากยิ่งขึ้น เราสามารถเดินเล่นๆ หามุมถ่ายภาพสวยๆ ได้ทั้งทางขวามือ และซ้ายมือ แต่ทางขวามือนั้น เก็บเอาไว้ตอนขากลับจะดีกว่าครับ หากเราไปช่วงเย็นๆ เวลาเดินกลับมาจุดเริ่มต้นของเราก็จะได้ถ่ายภาพพระอาทิตย์ตกน้ำได้เลย มุมมหาชนจริงครับ
ตัวสะพานในบางช่วงมีการซ่อมแซม นิดๆ หน่อยๆ ตามจุดต่างๆ แต่อาจะทำให้เสียอารมร์สำหรับใครบางคน แต่เอาเป็นว่า ความปลอดภัยต้องมาก่อนก็แล้วกัน หากใครมาช่วงบ่ายๆ เริ่มเดินไปทางซ้ายมือของเราได้เลย ค่อยๆ เดิน เก็บภาพสวยๆ อาจจะโชคดีได้เห็นปลาโลมาตามชื่อสถานที่ แต่สำหรับเรานั้นวันที่ได้ไป ไม่พบเห็น ถ้าเราไปช่วงบ่ายก็จะสะดวกสำหรับการถ่ายรูปเอามากๆ เพราะดวงอาทิตย์จะอยู่ข้างหลังเราพอดี เวลาถ่ายภาพท้องฟ้าก็จะฟ้า ภาพออกมาสวยขึ้นอีก แต่ถ้าจะถ่ายคน นางแบบ นายแบบของเราก็ต้องสู้แสงกันหน่อย จะพกแว่นกันแดดติดตัวมาก็ได้ ตาจะได้ไม่เล็กลงไปอีก ใครตาเล็กมีตาหาย เพราะต้องสู้แสง
ระหว่าทางที่เดินก็จะมีศาลาที่ทำเอาไว้ ให้เราไปนั่งรับลมทะเลได้นะ แต่ผมชอบจริงๆ ก็ตรงที่มันเป็นหลังคาสีเขียว เขียวและแดงตัดกันดีจริงๆ ช่างเลือกสีได้ตัดกันจริง ให้เป็นที่นั่งพักเก็บแรงเอาไว้เดินต่อ พักเหนื่อยและหลบร้อนในวันที่แดดจังอย่าลืมพกร่มติดตัวมาด้วยก็ดีนะครับ ดำขึ้นไปอีก ไม่รู้นะ
ความนิยมของสถานที่ ไม่ใช่มีเฉพาะคนไทยอย่างเราเท่านั้น ยังมีชาวต่างชาติแวะมาเยี่ยมชมเหมือนกับเราเช่นกัน หากเรามองออกไปทางฝั่งทะเล จะเห็นนกมาหาปลาเพื่อดำรงชีวิตตามธรรรมชาติ ณ จุดเแห่งนี้ได้บอกเอาไว้ว่าในบางโอกาสเราสามารถที่จะเห็นปลาโลมาได้ สมกับชื่อของสถานที่ เราใช้เวลาอยู่นาน พยายามใช้สายตามองออกไป เอากล้องเข้ามาช่วยก็ไม่ประสบความสำเร็จ ก็นั่งดูคลื่นไปเพลินๆ เอาแล้วกัน จะสังเกตุเห็นแนวไม้ไผ่ที่สร้างเอาไว้ชะลอคลืนที่มากระทบชายฝั่ง ให้เบาลง ไม่ทำให้ชายฝั่งเสียหาย นกบางตัวก็จะมาเกาะสามารถเก็บภาพสวยๆ ได้เลย
ช่วงเวลาทีเด็ด ก็เป็นช่วงเวลาเย็นๆ ที่พระอาทิตย์กำลังจะตก ช่วงเวลาเห็นการถ่ายรูปแสงสีทอง สะท้อนกับน้ำทะเล หรือจะนั่งเพลินๆดูพระอาทิตย์ตกน้ำก็ไม่มีใครว่า หรือจะพกพาอาหารมาทานเองก็ได้ จับจองหาที่นั่งที่ไม่กีดขว้างทางถนนของคนอื่นก็เป็นอันใช้ได้ เป็นช่วงเวลาทานข้าวนอกบ้านได้เลย หากพาเด็กเล็กพามาด้วยต้องระมัดระวังดีๆ นะครับ หากในวันข้างหน้าสะพานสร้างต่อจนเสร็จสิ้นแล้ว ความนิยมคงจะเพิ่มขึ้นตามระยะทางของสะพาน หากวันไหนสะพานสร้างยาวจนเสร็จสิ้นแล้ว จะกลับไปเก็บภาพประทับใจอีกครั้ง กับ สะพานสีแดง แห่งสมุทรสาคร
เรื่องนี้ไม่ต้องเป็นห่วงเลย ตลอดเส้นทางที่เราได้ผ่านมา มีร้านอาหารนับสิบเรียงรายให้เราเลือก สำหรับเรานั้น เราอาจจะใช้งานการที่ดูแบบโง่ๆ จากจำนวนรถที่จอดหน้าร้าน แล้วเปิดเช็คดูอีกครั้งตาม Google Map ว่ารีวิวออกมาแล้วเป็นอย่างไรก็มุ่งเข้าไปตานร้านที่เห็นนั้นเอง แต่ละร้านก็เคยทานมาแล้วบางร้านคนก็บางตาไปเหมือนกัน บางร้านก็พึ่งจะเห็นว่า เปิดบริการ เมื่อท้องมันหิว ก็ตาต้องไหวมองหาร้านไหนได้ก็พุ่งเขาที่จอดรถ แต่ที่จอดรถนี่สิ จอดข้างถนนเอานะครับ ตอนจอดก็เรื่อง จะออกก็เรื่อง ดังนั้นใครได้ผ่านไป ผ่านมาแถวนี้ช่วงเย็นๆ ก็ต้องขับรถให้ระมัดระวังด้วยนะครับ
มาเล่าประวัติกันสักนิด จังหวัดสมุทรสาครเป็นจังหวัดชายทะเล ตั้งอยู่ปากแม่น้ำท่าจีน หลักฐานทางประวัติศาสตร์ กล่าวไว้ว่า ในสมัยกรุงศรีอยุธยา สมุทรสาครเดิมเป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่มีชาวจีนนำเรือสำเภาเข้ามาจอดเทียบท่าค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าและได้พักอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก จึงเรียกว่า “บ้านท่าจีน” ตั้งอยู่บริเวณปากอ่าวไทย ต่อมาในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ (พ.ศ. 2099) ได้โปรดให้ยกฐานะ “บ้านท่าจีน” ขึ้นเป็น “เมืองสาครบุรี” เพื่อเป็นหัวเมืองสำหรับเรียกระดมพลเวลาเกิดสงคราม และเป็นเมืองด่านหน้าป้องกันข้าศึกศัตรูที่จะเข้ามารุกรานบุกรุกทางทะเล
ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงโปรด ให้เปลี่ยนชื่อ “เมืองสาครบุรี” เป็น “เมืองสมุทรสาคร” ซึ่งมีความหมายว่า “เมืองแห่งทะเลและแม่น้ำ” ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 (พ.ศ. 2448) ทรงปฏิรูปการปกครองมีการจัดระบบการบริหารราชการส่วนภูมิภาคเป็นมณฑลเทศาภิบาล และได้ทรงมีพระราชดำริที่จะสร้างสรรค์ความเจริญให้แก่ท้องถิ่น โดยใช้รูปแบบการปกครองแบบสุขาภิบาล จึงได้มีพระบรมราชโองการให้ยกฐานะ “ตำบลท่าฉลอม” เป็น “สุขาภิบาลท่าฉลอม” จังหวัดสมุทรสาคร เป็นสุขาภิบาลที่ตั้งขึ้นในหัวเมืองเป็นแห่งแรกของประเทศไทย ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาล ที่ 6 (พ.ศ. 2456) โปรดเกล้าให้ทางราชการเปลี่ยนคำว่า “เมือง” เป็น “จังหวัด” ทั่วทุกแห่ง ในพระราชอาณาจักร “เมืองสมุทรสาคร” จึงได้เปลี่ยนเป็น “จังหวัดสมุทรสาคร” มาจวบจนปัจจุบันนี้
ส่วนคำว่า “มหาชัย” ที่คนทั่วไปชอบเรียกกันนั้น เป็นชื่อคลองที่สมเด็จพระสรรเพชญที่ 8 แห่งกรุงศรีอยุธยาโปรดให้ขุดคลองลัดจากเมืองธนบุรี เป็นแนวตรงไปออกปากน้ำเมืองสาครบุรีแทนคลองโคกขามที่คดเคี้ยว แต่ยังไม่ทันเสร็จทรงสวรรคตเสียก่อน จนถึงรัชสมัยสมเด็จพระสรรเพชญที่ 9 (ขุนหลวงท้ายสระ) ได้โปรดให้ขุดคลองต่อจนแล้วเสร็จ และได้พระราชทานนามว่าคลองมหาชัย ซึ่งต่อมา ณ บริเวณฝั่งซ้ายปากคลองได้เกิดชุมชนขนาดใหญ่ขึ้นชื่อว่า “มหาชัย” จึงเป็นที่นิยมเรียกขานแต่นั้นเป็นต้นมา
ข้อมูลประวัติได้มาจากเว็บไซต์ samutsakhon.go.th
Copyright 2020 – Your Time Travel design by Chittakorn Corporation Co.,Ltd